Seminole Patchwork เทคนิคดี ๆ ที่น่าเรียนรู้

Last updated: 13 ธ.ค. 2564  | 

Seminole Patchwork  เทคนิคดี ๆ ที่น่าเรียนรู้

Seminole Patchwork  เป็นเทคนิคงานต่อผ้าที่มีต้นกำเนิดมาจาก ชาวอินเดียนแดงเผ่า Seminole และ Miccosukee  ที่อาศัยอยู่ในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา    โดยเริ่มเป็นที่แพร่หลายในช่วงต้นทศวรรษที่ 1900  ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคือง  ต้องใช้ผ้าที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าและเครื่องใช้ส่วนตัวที่สวยงาม  งาน Patchwork  หลายๆ ประเภทก็ถือกำเนิดในช่วงนี้เช่นกัน



ลักษณะเด่นของงาน Seminole  คือสีสันที่สดใสมาก  ให้ความรู้สึกที่เคลื่อนไหวและร่าเริง  เช่น สีฟ้าเทอร์ควอยซ์  เขียวหัวเป็ด   แดง  มีการใช้สีเหลืองสำหรับการสร้างมิติให้กับงาน    และจะใช้สีดำเป็นสีหลักเพื่อเน้นลวดลายที่เกิดจากการต่อผ้าให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น   


ผ้าที่เหมาะกับการทำงาน Seminole  คือผ้าคอตตอน 100% เพราะความทนทานต่อการรีดและซักในระหว่างการใช้งาน  และสะดวกในการเย็บเพราะเนื้อผ้าจะอยู่ตัวไม่ลื่นไปมาง่ายเหมือนกับผ้าโพลีเอสเตอร์  และควรเป็นผ้าที่ความหนาเท่า ๆ กัน  เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการดึงรั้งให้งานย้วย 


ผ้าที่ใช้ในยุคแรกจะใช้ผ้าพื้นเป็นหลัก  แต่ในปัจจุบันมีการใช้ผ้าลวดลายต่าง ๆ มาใช้ ทำให้เกิดงานที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น  เช่นการใช้ผ้าเหลือบทำให้ combination แต่ละชิ้นมีสีที่ไม่ซ้ำกัน  ทำให้งานดูมีมิติมากยิ่งขึ้น เหมือนกระเป๋า Seminole String ใบนี้


การต่อผ้าแบบ Seminole ส่วนมากจะใช้เทคนิค Strip Piecing มากกว่าการนำผ้ามาต่อทีละชิ้น  เทคนิคนี้จะเหมาะกับการเย็บด้วยจักรมากกว่ามือ  เป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมกันในการทำงานควิลท์มากเช่นกัน


โดยจะนำผ้า strip ยาว ๆ จำนวน 3-5 สีมาต่อกันให้เป็นแถบยาวๆ(Strata)  แล้วค่อยตัดผ้าให้เป็นชิ้นเล็ก(Combination)  จากนั้นจึงนำ Combination มาเรียงแล้วเย็บต่อกันอีกครั้งในตำแหน่งที่ต่างกันออกไป   เพื่อให้เกิดลวดลายที่ดูซับซ้อน   ด้วยวิธีเช่นนี้จะทำให้เกิดแพทเทิร์นจากผ้าแบบเดียวกันได้มากมายหลายสิบแบบ   

การวางผ้าแบบเดียวกัน แต่สลับสีไปมาจะช่วยให้ได้แพทเทิร์นที่แตกต่างกันออกไป



เทคนิค Strip Piecing เป็นวิธีการเย็บที่ไม่ยาก  ได้งานที่ดูละเอียดซับซ้อนอย่างรวดเร็ว   ความยากของงาน Seminole อยู่ที่การคำนวณขนาดสำหรับตัดผ้า  เพราะความแตกต่างของลายนอกจากเกิดจากการวางผ้าสลับไปมาแล้ว  การวางผ้าสำหรับเย็บต่อในองศาต่าง ๆ กัน  หรือการตัดผ้าในองศาที่ไม่เหมือนกัน  ก็มีส่วนที่ทำให้ลายดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น  ดังนั้นผู้เย็บจึงต้องคำนวณขนาดตัดผ้าให้แม่นยำก่อนที่จะตัดผ้าครั้งแรก  ถ้ามีความรู้ทางคณิตศาสตร์เรื่องสามเหลี่ยมและองศาต่าง ๆ จะช่วยได้มาก

 

 

Clan แพทเทิร์น Seminole ถ้าสลับการวางผ้าไปมาจะเกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน  การคำนวณขนาดให้ใช้วิธีนับช่อง แล้วมาคำนวณขนาดสำหรับตัดผ้า


ลายของ Seminole Patchwork ลายต่าง ๆ จะมาในรูปแบบของกระดาษกราฟแล้วเขียนเส้นระบายสีเป็นลาย เรียกว่า “Clan”  ผู้ทำสามารถนับช่องของกราฟแล้วคำนวณเป็นขนาดของงานได้  แล้วให้แต่ละช่องเป็นตัวแทนของหน่วยที่เล็กที่สุดของงาน เช่น ¼”, ⅜”, ½”  หรือ 0.5, 0.75, 1.0 cm

 



วิธีที่ดีที่สุดในการคำนวณขนาดตัดผ้าคือการเขียนและระบายสีงานที่ต้องการลงบนกระดาษกราฟ แล้วจากนั้นให้วัด ขนาดของ Strip ที่ต้องใช้แต่ละเส้นอย่างรอบคอบก่อนที่จะตัดผ้า  หรือจะตัดเศษผ้าตามสีที่ออกแบบไว้ แล้วนำมาเรียงกันเพื่อช่วยในการคำนวณก็ได้  ดังนั้นการเข้าใจแพทเทิร์นถือเป็นหัวใจหลักของการทำงาน Seminole 

 

เมื่อตัดผ้าได้ขนาดที่ต้องการแล้ว นำงานมาเย็บด้วยวิธี Strip Piecing แล้วค่อยตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนนำมาเย็บต่อกันจนเกิดเป็นลวดลาย

 

1) ตัดผ้าเป็น Strip ในรูปเลือกใช้ผ้าเหลือบลาย Sunset ความกว้าง 1 1/4"  คู่กับผ้าลาย Setember Morning Brush strok กว้าง 2" จำนวน 2 ชิ้น

 

2)  นำผ้ามาเย็บต่อกัน (Strata)

 

3)  ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ (Combination) แต่ละชิ้นกว้าง 1 1/4"

 

4)  นำมาเรียงตามแบบที่เราออกไว้ด้านบน  

 

5) เมื่อเย็บต่อกันเรียบร้อยแล้ว  ค่อยตัดผ้าส่วนเกินออกให้ได้ขนาดที่ต้องการ

 

ลวดลาย Seminole  มักจะได้มีการตั้งชื่ออ้างอิงตามสิ่งที่พบเห็นในธรรมชาติ  เช่น Wind, Fire, TiGer Teeth, Rain, Birds, Dragonfly, Turtle  ฯลฯ วนมากจะนำลายที่เย็บได้แต่ละลายมาต่อกันเป็นเส้นยาว ๆ ก่อนที่จะนำลายต่าง ๆ กันมาต่อให้เป็นชิ้นงาน  โดยจะมีแถบผ้าเล็ก ๆ มาคั่นกลางแต่ละลายหรือไม่ก็ได้  หรือการใช้ Rickrack มาคั่นแต่ละลายก็พบเห็นได้ทั่วไป

 

 

ตัวอย่างชื่อลาย Seminole ที่ตั้งตามธรรมชาติ เท่าที่ค้นหาได้

1) 4 Crossed Logs   2) Fire   3) Rose   4) Happy Path


ในยุคแรกการนำงาน Seminole มาใช้จะพบในทำของใช้ในชีวิตประจำวันหลากหลายประเภท เช่น เสื้อผ้า  ผ้าคลุมไหล่  กระเป๋า  โดยไม่รองใย

 

กระเป๋าใบนี้ใช้เทคนิค  Seminole  มาทำสายกระเป๋า 


ตะกร้าหัวใจใบนี้ใช้เทคนิค Seminoleเช่นกันค่ะ

 

สำหรับวงการควิลท์นอกจากจะนำมาทำเป็น Seminole Sampler Quilt แล้ว  ยังนิยมใช้ในการทำบอร์เดอร์สำหรับงานควิลท์อีกด้วย  เพราะความซับซ้อนของลายช่วยส่งเสริมให้งานควิลท์ดูมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น  ตามตัวอย่างข้างล่าง

 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้