Last updated: 14 ส.ค. 2565 |
Dream Big Panel เป็นงานควิลท์ที่ได้รับความนิยมกันแพร่หลายในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะความสวยของลายผ้าที่นำมาควิลท์เพียงอย่างเดียว ก็ได้งานควิลท์สวย ๆ ไว้โชว์แล้ว ไม่ต้องมานั่งต่อผ้าให้วุ่นวาย
เอ๋เองก็ใฝ่ฝันอยากทำงานชิ้นนี้มาก สั่งผ้ามาเตรียมไว้ล่วงหน้า นั่งดูงานใน Pinterest มั่ง Facebook มั่งมาหลายปี
จนกระทั่ง Bernina Thailand ชวนให้มาทดลองใช้จักรรุ่นใหม่ที่เพิ่งได้สิทธิ์ให้ขายในประเทศไทย เป็นจักร Longarm แบบ sit down moldel เอ๋รีบตอบรับด้วยความยินดี งานชิ้นไหนจะเหมาะกับการทดลองใช้จักรตัวใหม่ได้ดีกว่าผ้าชิ้นนี้ เพราะไม่ต้องต่อผ้า เอาไปเย็บได้ทันที
วันที่ไปเย็บวันแรก เอ๋ก็เตรียมตัวอย่างที่คิดว่าดีแล้ว ตั้งแต่ หาลายที่คิดว่าจะทำไว้ล่วงหน้า เขียนลายที่คิดว่าจะทำลงใน ipad เตรียมไว้(บ้าง) เตรียมผ้าขาวขนาดเท่าชิ้นงานไปสำหรับทดลองเย็บก่อนลงงานจริง อุปกรณ์สำหรับควิลท์ครบมือ และที่ขาดไม่ได้คือ งานจริงที่กลัดเข็มกลัด เตรียมพร้อมควิลท์ได้ทันที
พอทดลองเย็บเพื่อทำความคุ้นเคยกับจักรสักพัก ความมั่นใจก็มาเต็มเปี่ยม ลงมือควิลท์กับงานจริงทันที ทำไปทีละกลีบ ๆ ลายไหนไม่มั่นใจก็ทดลองเย็บบนผ้าทดลองก่อน
เมื่อเจอจักรในฝันใช้งานได้สะดวกมากขึ้น ยิ่งเย็บก็ยิ่งเพลิน เย็บไป 5-6 ชั่วโมงไม่มีการปวดเมื่อย มารู้ตัวอีกที ควิลท์งานไปจนเกือบรอบสุดท้าย เริ่มเบื่อกับลายที่ทำซ้ำ ๆ ถึงเพิ่งเห็นว่างานที่ควิลท์ไปเริ่มย่นมากขึ้นเรื่อย ๆ เลยต้องหยุดงานไว้ตรงนั้น
งานทั้งย่น ทั้งย้วย
กลับมาถึงบ้านมานั่งคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรดี เริ่มด้วยการเลาะไปทีละกลีบๆ แล้วมาควิลท์ใหม่ งานออกมาย่นน้อยลง แต่ยังไม่น่าดูอยู่ดี รู้สึกทนเห็นงานไม่ได้เลย ตอนแรกคิดว่าจะเปลี่ยนเป็นงานชิ้นใหม่ แต่พอคิดว่าเราควรจะแก้ปัญหาให้ได้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับสอนในอนาคต
ดูความย่นใกล้ ๆ
เลาะควิลท์ใหม่ก็ยังย่น ลายก็ใหญ่ไปนิดด้วย
ผ้าที่เหลือเยอะทำให้ควิลท์แล้วย่น
โชคยังดีที่ผ้ายังมีอีกหลายชิ้น เลยเริ่มต้นกับผ้าชิ้นใหม่ ลายเดิม สีเดิม คราวนี้เอาใจใส่ตั้งแต่เริ่มต้น เปลี่ยนใยใหม่ จากเดิมที่ใช้ใยเก่าเก็บที่ซื้อไว้นานแล้ว ไม่คุ้นเคย มาเป็นใยโพลีเอสเตอร์ยี่ห้อ Quilter’s Dream ที่ใช้แล้วชอบ เพราะใยมีความนิ่ม บางแต่ไม่เละ และใยก็ดูดผ้าให้แนบติดกับใย ช่วยเวลาปูผ้าสำหรับเนาได้ดี
เตรียมพร้อมก่อนควิลท์
ด้ายยังคงใช้ด้ายเดิม ด้ายบนเป็นด้ายคอตตอน Konfetti ด้ายล่างใช้ Decobob สีเทาอ่อน อันนี้เป็นความท้าทายอย่างนึงที่ต้องปรับความตึงด้ายให้พอดีที่ด้ายล่างไม่โผล่ขึ้นไปด้านบน และด้ายบนก็ไม่โผล่ลงมาด้านล่าง
เขียนลายสำหรับทุกช่อง
ลายสำหรับควิลท์มีการเตรียมตัวมากขึ้นมาก ๆๆๆๆ ด้วยการหาลายที่ชอบเตรียมไว้หลาย ๆ ลาย พร้อมเขียนลงบนกระดาษเท่าขนาดจริงเตรียมไว้ ทุกกลีบ ทุกช่อง วิธีนี้ทำให้ลายในงานมีหลากหลายมากยิ่งขึ้น พร้อมกับเพิ่มรายละเอียดในลายควิลท์ให้มากขึ้น ของเดิมเอ๋ควิลท์ลายค่อนข้างใหญ่
เพราะคิดว่าผ้าผืนใหญ่ลายควรจะใหญ่งานจะออกมาสวยกว่า แต่กลายเป็นว่ามีพื้นที่เหลือให้งานพองออกมามากขึ้น
วางลาย
เขียนลายบนกระดาษเสร็จแล้วก็ตัดออกมาวางบนงานทดสอบดูความพึงพอใจ งานนี้ทำเอาปากกาหมดไป 2 ด้ามเลยค่ะ วิธีนี้ทำให้เราได้ความรู้สึกกับงานขนาดจริง ๆ ก่อนเย็บมากขึ้น ได้เห็นจังหวะการเลี้ยวการโค้งแต่ครั้งเหมือนงานจริง ได้รู้ว่าปัญหาของลายที่จะเย็บคืออะไร
ควิลท์รอบในเสร็จ
เริ่มควิลท์งานจากตรงกลางเหมือนเดิม แล้วควิลท์ล็อคกลีบทีละรอบจากเดิมที่ล็อคกลีบไปหมดทั้งชิ้นงานก่อนเริ่มควิลท์ด้านใน พอควิลท์กลีบด้านในแล้วก็เริ่มควิลท์ด้านในกลีบตามลายที่เขียนเตรียมเอาไว้แล้ว
ผ้าเริ่มหย่อน
ควิลท์กลีบรอบในเสร็จแล้ว ก็เริ่มสำรวจผ้าที่เหลือว่าหย่อนหรือไม่ เพราะเวลาควิลท์เราจะมีการหมุนผ้าไปมาตลอดเวลา ผ้าก็มีการเคลื่อนได้ถึงแม้จะกลัดเข็มกลัดเอาไว้แล้ว และงานชิ้นนี้เป็นงานสไตล์ Whole Cloth Quilt ที่ใช้ผ้าชิ้นเดียวมาควิลท์ทั้งงาน เวลางานย่นหรือผ้าขยับจะไม่มีตัวช่วยพรางรอยย่นให้ ไม่เหมือนกับงานที่มีการต่อผ้า ตะเข็บผ้าจะช่วยกลบเกลื่อนรอยย่นไปได้บ้าง
เมื่อเห็นว่างานเริ่มมีผ้าย่นออกมา เอ๋เลยใช้มือลูบผ้าใหม่ให้ติดกับใยอีกครั้ง ตรงไหนที่ผ้าเหลือก็แกะเข็มกลัดออกกลัดใหม่ แล้วลูบผ้าไปเรื่อย ๆเป็นวงกลมจนรอบผ้า พอควิลท์รอบที่สองก็ทำแบบเดิมอีก พบว่าผ้าเหลือเยอะเลยทีเดียว บางจุดใยเกือบไม่พอ เพราะเอ๋เผื่อไว้น้อยเกินไป แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เราสามารถเล็มงานออกได้
ควิลท์เสร็จแล้ว
ทำเสร็จแล้วหายเหนื่อยค่ะ งานชิ้นนี้ใช้เวลาเย็บไม่นานมากประมาณ 2 วัน เย็บทั้งจักรตัวใหญ่ และจักรที่บ้าน แต่ใช้เวลาเตรียมงานนานกว่าทั้งการหาลาย ลอกลายแต่ละกลีบ แล้วทดลองลายควิลท์ลงบนกระดาษใช้เวลาเกือบอาทิตย์
ด้านหลัง
หวังว่าประสบการณ์งานพังครั้งนี้ของเอ๋จะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ บ้างเวลาควิลท์งานครั้งหน้านะคะ
30 มิ.ย. 2565
31 ม.ค. 2567
22 ต.ค. 2565
8 ต.ค. 2566