Last updated: 9 พ.ค. 2564 |
ขนาดของด้ายมีความสัมพันธ์กับลักษณะการใช้งาน
ถ้าเราเย็บต่อผ้า เราต้องการด้ายที่มีขนาดบางแต่ทนทาน
แต่ถ้าเราต้องการแอพพลิเคแบบเนียนเรียบร้อยเหมือนงานมือ เราควรพิจารณาด้ายที่มีความบางมาก หรือถ้าเราแอพพลิเคแบบโชว์ลวดลาย ด้ายที่มีเส้นใหญ่ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับขนาดของด้าย เพื่อให้เราได้งานที่ตรงความต้องการของเรามากที่สุด องค์ประกอบของขนาดด้ายมีอยู่ 2 แบบ คือ ขนาดของเส้นด้ายและจำนวนเส้นใยของด้ายแต่ละเส้น
มาตรฐานของด้ายที่พบทั่วไปจะมี 2 แบบ คือ
1.Number standard เป็นมาตรฐานของอเมริกัน
ถ้าเราดูขนาดของด้าย เราจะเห็นตัวเลขอยู่ 2 แบบ คือ ตัวเลขหลักสิบ แล้วตามด้วยเครื่องหมาย “/” และตัวเลข 2 หรือ 3 เช่น 50/2 50/3
ตัวเลขตัวแรก คือ ขนาดของเส้นด้าย ตัวเลขนี้ได้มาจากความยาวของด้ายเป็นกิโลเมตร ต่อน้ำหนักด้าย 1 กรัม เช่น ด้ายเบอร์ 50 คือด้าย 1 กิโลกรัมยาว 50 โลกิเมตร เลขยิ่งเยอะด้ายยิ่งบาง ด้ายเบอร์ 60 จะบางกว่าด้ายเบอร์ 50
ตัวเลขตัวหลัง คือ จำนวนของเส้นใยที่มาพันเกลียวกันเป็นด้าย 1 เส้น การผลิตด้ายแต่ละเส้นจะเกิดจากการนำเส้นใยมาพันเกลียวกัน ตัวเลขที่พบเห็นโดยทั่วไปคือ เลข 2 และ 3
เลข 2 คือ ด้ายที่เกิดจากการพันเกลียวกันของเส้นใย 2 เส้น
เลข 3 คือ ด้ายที่เกิดจากการพันเกลียวกันของเส้นใย 3 เส้น
ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นความแข็งแรงของเส้นด้าย เพื่อให้เราเลือกการใช้งานให้เหมาะสม ในขณะเดียวกันตัวเลขบอกถึงขนาดของเส้นด้ายด้วย ด้ายเบอร์ 50/3 จะมีขนาดใหญ่กว่า 50/2 เล็กน้อย ถึงแม้จะเป็นด้ายเบอร์เดียวกัน
เบอร์ของด้ายแต่ละยี่ห้อจะมีขนาดแตกต่างกันเล็กน้อย และด้าย Cotton กับ Polyester เบอร์เดียวกัน ก็มีขนาดไม่เท่ากัน ดังนั้นการเปรียบเทียบด้ายจึงควรเปรียบเทียบในแต่ละยี่ห้อ และ เปรียบเทียบกับด้ายชนิดเดียวกัน
เบอร์ด้ายที่พบเห็นทั่วไปในท้องตลาดได้แก่
ด้ายเบอร์ 12 ด้ายเส้นใหญ่ใช้สำหรับควิลท์ หรือเดินเส้นโชว์ลวดลาย
ด้ายเบอร์ 30 ใช้สำหรับควิลท์ หรืองานปักชนิดต่าง ๆ
ด้ายเบอร์ 40 ใช้สำหรับควิลท์
ด้ายเบอร์ 50 ใช้สำหรับควิลท์ หรือ เย็บต่อผ้า
ด้ายเบอร์ 60 ใช้สำหรับเย็บต่อผ้า แอพพลิเค หรือเป็นด้ายล่าง
ด้ายเบอร์ 80 ใช้สำหรับแอพพลิเค หรือด้ายล่าง หรือ Micro Quilting
ด้ายเบอร์ 60 ใช้สำหรับแอพพลิเค หรือด้ายล่าง หรือ Micro Quilting
เบอร์ด้ายข้างต้นเป็นเบอร์ตามมาตรฐานอเมริกัน ซึ่งเราคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่มีมาตรฐานขนาดด้ายอีกประเภทหนึ่งที่เราควรทำความเข้าใจ เพื่อป้องกันการสับสนเวลาเลือกซื้อด้าย
2.มาตรฐาน Tex. เป็นการกำหนดเบอร์ด้ายจาก น้ำหนักของด้ายเป็นกรัมต่อความยาวด้าย 1000 เมตร เช่นด้ายยาว 1000 เมตร หนัก 50 กรัม เบอร์ของด้ายคือ Tex50.
ขนาดของด้ายในมาตรฐานนี้จะกลับกันกับ Number Standard คือ เลขยิ่งเยอะ ด้ายยิ่งเส้นใหญ่
อย่างไรก็ตามมาตรฐานนี้นิยมใช้ในวงการสิ่งทอมากกว่า ในขณะที่ Number Standard จะเป็นที่แพร่หลายมากกว่า
22 ต.ค. 2565
31 ม.ค. 2567
14 ส.ค. 2565
8 ต.ค. 2566