อุปกรณ์สำหรับงานควิลท์

Last updated: 12 Apr 2020  | 

อุปกรณ์สำหรับงานควิลท์

สำหรับคนที่เริ่มสนใจงานเย็บต่อผ้า  อาจสงสัยว่าควรจะต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง  จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องซื้ออุปกรณ์ตัวนั้นตัวนี้  น่าซื้อมาใช้  แต่ว่าแต่ละตัวราคาไม่ถูกเลย

          วันนี้ขอแนะนำอุปกรณ์ที่เราจะเป็นต้องใช้ จริง ๆ สำหรับมือใหม่  ถ้าเริ่มทำงานไปนาน ๆแล้ว ค่อยเลือกหาอุปกรณ์เสริมตัวอื่นเข้ามาช่วยให้ทำงานได้สะดวกและสวยงามขึ้น

          1.ผ้า  ผ้าที่เราใช้ในงานควิลท์ควรจะเป็นผ้าคอตตอน 100%  เพราะผ้าคอตตอนมีคุณสมบัติไม่ย่นเมื่อผ่านความร้อนมาก ๆ เพราะการเย็บต่อผ้าเราต้องมีการรีดตลอดเวลา  เพื่อให้งานออกมาเรียบร้อยดูสวยงาม 

          ในยุคเริ่มแรกงานควิลท์ใช้ผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บเสื้อผ้าหรือใช้เสื้อผ้าเก่า 

          ปัจจุบันผ้าคอตตอนที่ใช้สำหรับงานควิลท์มีการออกแบบมากมายหลายสไตล์ให้เราเลือกใช้ตามความชอบใจ และสามารถนำมาสร้างสรรค์งานได้ไม่จำกัด  เนื้อผ้าก็มีหลากหลายทั้งผ้าคอตตอนพิมพ์ลาย  ผ้าทอ ผ้าบาติก หรือแม้กระทั่งผ้าคอตตอนลินินที่เรานิยมเรียกกันว่าแคนวาส

          ความหนาบางของเนื้อผ้าก็มีผลต่อการเย็บบ้าง  ผ้าที่หนาเวลาเย็บแล้วขนาดอาจเล็กกว่าแพทเทิร์นเล็กน้อย  ถ้านำผ้าที่หนาไม่เท่ากันมาต่อด้วยกันควรต้องคำนึงถึงขนาดที่จะเหลือหลังจากเย็บด้วย

          สำหรับมือใหม่ควรเลือกผ้าเนื้อเดียวกันมาเย็บต่อกัน จะดีกว่า


          2.กระดาษสำหรับทำแบบ หรือเทมเพลต  วัสดุที่เรานำมาทำเทมเพลตควรเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายและสามารถนำมาใช้สะดวก   ที่เป็นที่นิยมคือพลาสติกและกระดาษ  

          สำหรับพลาสติกก็มีหลายแบบ  อาจนำปกแฟ้มมาใช้ทำเทมเพลตได้  แต่ปกแฟ้มจะค่อนข้างลื่นเมื่อวางลงบนผ้า ต้องใช้ความระมัดระวังเวลาที่เราลอกลายลงบนผ้า   หรือจะซื้อพลาสติกที่ใช้สำหรับทำเทมเพลตโดยเฉพาะก็ได้  แต่ควรเลือกแบบบางเพื่อที่จะได้ตัดได้ง่าย  ในรูปจะเป็น mylar plastic ที่มีคุณสมบัติทนความร้อนสามารถรีดทับได้โดยไม่ละลาย   สามารถเขียนด้วยดินสอและถ่ายเอกสารได้ 

          หรือเราจะนำกระดาษแข็งหรือกล่องขนมมาใช้ทำเทมเพลตก็ได้  แต่อาจไม่ทนทานเท่าพลาสติก  เพราะบางครั้งเราต้องใช้เทมเพลตเขียนแบบหลาย ๆ ครั้ง    ซึ่งกระดาษอาจสึกได้เมื่อเรานำมาเขียนหลายรอบ  ดังนั้นเราอาจต้องทำเทมเพลตสำรองไว้หลาย ๆ อัน  เพื่อไม่ให้ขนาดผิดเพี้ยน

          3.ไม้บรรทัด  ปัจจุบันมีไม้บรรทัดสำหรับทำงานควิลท์ที่ช่วยให้เราทำงานได้สะดวกรวดเร็วมากมายหลายขนาด   เราควรเลือกไม้บรรทัดแบบที่มีเส้นแบ่งความกว้างตามแนวนอน ได้แก่ ขนาด 3 ,5, 7 mm  ซึ่งเป็นขนาดที่เราใช้บ่อย  และอาจมีองศาขนาดต่าง ๆ ด้วย   เพื่อที่จะช่วยให้เราทำงานได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

         ความยาวของไม้บรรทัดที่ควรมีไว้ใช้ คือ ขนาด 15 cm และ 30 cm ขึ้นอยู่กับขนาดของชิ้นงานที่เราจะทำ

          ไม้บรรทัดแบบนี้อาจมีราคาแพงเล็กน้อย  แต่ก็คุ้มค่าแก่การลงทุน  ถ้าหาไม่ได้จริง ๆ ไม้บรรทัดธรรมดาก็สามารถใช้ได้ 

        4.อุปกรณ์สำหรับเขียนเส้น  ใช้สำหรับขีดเส้นที่เราจะใช้เย็บหรือเขียนเส้นควิลท์  ควรเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เขียนบนผ้าได้ง่าย  และสามารถลบออกได้ง่ายด้วย  เพื่อจะได้ไม่ทิ้งร่องรอยไว้บนชิ้นงานของเรา  จากล่างขึ้นบน

               -ดินสอ  เป็นอุปกรณ์ที่เบสิคที่สุด  สามารถลบออกได้เมื่อเรานำไปซัก  นิยมใช้ดินสอขนาด 2B  เพราะมีความเข้มกำลังดี  ถ้าใช้สีอ่อนอาจมองไม่เห็นเส้นที่เราเขียนได้  หรือถ้าใช้เข้มเกินไปก็จะทำให้งานของเราเลอะเทอะโดยไม่จำเป็น

               -ดินสอกด ใช้ไส้ขนาด 2B เช่นกัน  ใช้เวลาเขียนเทมเพตหรือสร้างแพทเทิร์น  เพราะเส้นมีขนาดบางทำให้เราได้แพทเทิร์นที่มีขนาดใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

               -ปากกา permanent ใช้สำหรับเขียนบนเทมเพต หรือบนถุงพลาสติกที่เราใช้เก็บผ้าที่เราตัดแยกเอาไว้กันการสับสน

               -ปากกาไส้สีขาวหรือสีต่าง ๆ ใช้สำหรับเขียนบนผ้าสีเข้ม หรือสีต่างๆ ที่ใช้ดินสอเขียนแล้วมองไม่เห็น

               -ปากกาหมึกระเหย หรือล้างออกด้วยน้ำ  เส้นที่เราเขียนด้วยปากกาชนิดนี้จะจางหายไปในเวลาไม่กี่ชั่วโมง  หรือหายไปเมื่อเราล้างด้วยน้ำ   ต้องลองสอบถามคนขายดู  เพราะปากกาชนิดนี้มีมากมายหลายรุ่นจริง ๆ

            5.เข็ม  ในงานควิลท์เราควรเลือกเข็มที่มีความคมเป็นพิเศษ   และควรจะมีเข็มไว้ใช้ให้ตรงตามประเภทเพื่อให้งานออกมาสวยงามที่สุด  ได้แก่

                -เข็มสำหรับเย็บต่อผ้า  มีขนาดยาวและหนาเล็กน้อยจับกระชับมือ

                -เข็มสำหรับแอพพลิเค  มีขนาดยาวแต่บางเพื่อที่จะสอดเข็มเข้าไปสอยด้านหลังผ้าได้สะดวก

                -เข็มควิลท์ มีขนาดสั้นและหนาที่สุด   เพื่อที่จะได้ไม่หักง่ายเวลาควิลท์  เพราะเราจะต้องแทงเข็มขึ้นลงผ่านผ้าถึง 3 ชั้น  ถ้าใช้เข็มบางก็จะหักได้ง่าย

                 -เข็มสำหรับเนา  มีขนาดยาวและหนาที่สุด  ใช้เวลาเนาผ้าทั้ง 3 ชั้นให้ติดกันก่อนที่จะควิลท์

          6.ด้าย   เรานิยมใช้ด้ายคอตตอนสำหรับงานควิลท์  เพราะงานควิลท์ก็ต้องมีการซักทำความสะอาดตลอดเวลา   ด้ายคอตตอนจะไม่ทำลายเนื้อผ้าเหมือนด้ายโพลีเอสเตอร์  เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ 

           เรานิยมใช้ด้ายเส้นบางสำหรับงายเย็บต่อผ้า  บางที่สุดสำหรับงานแอพพลิเคเพื่อไม่ให้เห็นร่องรอยของด้ายโผล่ออกมาบนงาน  และใช้ด้ายขนาดหนาเล็กน้อย(ประมาณเบอร์ 50)สำหรับงานควิลท์  เพื่อที่จะโชว์ความสวยงามของฝีเข็มควิลท์

           สำหรับมือใหม่ควรมีด้ายสีครีมหม่นๆหรือเทาไว้สำหรับเย็บต่อผ้า  ส่วนด้ายแอพเราจะใช้ด้ายสีเดียวกับผ้าชิ้นบน   และเราสามารถเลือกด้ายควิลท์ตามความชอบใจ  หรือถ้าเรากลัวว่าฝีเข็มเรายังไม่สวยพอให้เลือกด้ายสีกลมกลืนกันผ้าก็ได้

          7.กรรไกร  เราต้องมีกรรไกรหลายแบบสำหรับใช้งานให้ถูกประเภทเพื่อเป็นการรักษาความคมของกรรไกร  ในรูปจากซ้ายไปขวา  

         ซ้ายสุด-กรรไกรตัดกระดาษใช้ตัดสารพัดอย่าง ตัดเทมเพลตหรือตัดใยก็ได้  มีให้เลือกใช้ได้ตามความพอใจ 

          อันกลาง-กรรไกรสำหรับตัดผ้างานแอพพลิเค  มีขนาดเล็กสามารถซอกซอนตัดงานชิ้นเล็ก ๆหรืองานโค้งเว้า ได้สะดวก

          ขวาสุด-กรรไกรตัดผ้า ใช้สำหรับตัดผ้าเท่านั้นห้ามใช้ตัดอย่างอื่นเด็ดขาด

          8.ปลอกนิ้ว  ช่วยป้องกันไม่ให้นิ้วเราเจ็บมือเพื่อที่จะทำงานเย็บได้นาน ๆ    ในรูปปลอกนิ้วสีเขียวใช้สำหรับใส่ในนิ้วกลางเพื่อดันเข็มเวลาเย็บ  ส่วนปลอกนิ้วสีเงินมีรูตรงปลายนิ้วใช้สำหรับประคองเข็มเวลาที่เราควิลท์

          9. เข็มหมุด  ใช้สำหรับตรึงผ้าเวลาที่เราเย็บต่อผ้า  ควรมีหัวเล็ก ๆ เพื่อที่ด้ายจะไม่เกี่ยวเวลาที่เราเย็บผ้า  เข็มหมุดสำหรับงานควิลท์มีความหนาบางหลายขนาด  ถ้าเย็บต่อผ้าเราสามารถใช้เข็มหมุดที่หนาหน่อยเพื่อที่จะได้ช่วยพยุงผ้าได้ดี ไม่โค้งงอเวลาที่เจอผ้าหนา ๆ  แต่ถ้าแอพพลิเคเราอาจเลือกใช้เข็มหมุดขนาดบางหน่อยได้ 

          อุปกรณ์นอกเหนือจากนี้ก็สามารถหาได้ในบ้าน เช่น เตารีด ที่รองรีด และมีอุปกรณ์อีกอย่างที่แนะนำให้หามาไว้ใช้คือถุงซิปสำหรับเก็บงานที่ยังเย็บไม่เสร็จ  เพื่อไม่ให้หล่นหลายไปไหนอีกด้วย

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy