Last updated: 10 May 2021 |
การปรับความตึงด้ายเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้งานของเราออกมาดี แต่คนส่วนมากกลัวการที่จะต้องปรับจักร เพราะเกรงว่าจะทำให้จักรเสีย แต่ความจริงแล้วการปรับความตึงด้ายเป็นเรื่องปกติที่ทำกันอยู่ทั่วไป จะเห็นได้จากบริษัทผุ้ผลิตจักรทุกยี่ห้อจะมีปุ่มปรับความตึงด้ายสำหรับจักรทุกรุ่น ในตำแหน่งที่เราสามารถใช้งานได้ง่าย ๆ
มาดูงานสองชิ้นนี้กันค่ะ มองเผิน ๆ ด้านหน้าดูไม่แตกต่างกัน แต่ถ้าพลิกดูด้านหลังจะเห็นว่า ลายหยดน้ำสีม่วงจะมีลักษณะถั่วงอกเต็มไปหมด ในขณะที่ผ้าลายดอกกุหลาบด้านหลังดูเรียบเนียนกลมกลืนกัน
งานทั้งสองชิ้นนี้ใช้วัสดุอย่างเดียวกันเกือบทุกอย่าง ยกเว้นสีของด้าย อะไรที่ทำให้งานสองชิ้นมีความแตกต่างกัน คำตอบก็คือ การปรับความตึงด้ายค่ะ ผ้าลายดอกกุหลาบมีการปรับความตึงด้ายเพิ่มเติม ทำให้ด้ายแต่ละฝั่งไม่ไปโชว์ที่ฝั่งตรงข้าม
การที่ด้ายบนโผล่ที่ด้านหลังของงาน หรือด้ายล่างไปโผล่ด้านบน อาการแบบนี้เรียกว่าถั่วงอก ที่มักจะเจอกันได้บ่อย ๆ เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการปรับความตึงด้าย
รูปด้านบนนี้ลายหยดน้ำสีม่วงเป็นอาการของการที่ด้ายบนหย่อนเกินไป หรือด้ายล่างตึงเกินไป
ความตึงด้ายเกิดจากอะไร
จากรูปเรามาจินตนาการกันว่า ฝีเข็มของจักรเกิดจากการที่ด้ายบน(สีฟ้า)และด้ายล่าง(สีส้ม) ทำงานด้วยกัน ต่างคนต่างดึงกันจนเกิดเป็นฝีเข็ม
ฝีเข็มที่สวยงามจะเป็นตามข้อ A คือ ด้ายบนและด้ายล่างเกี่ยวกันด้วยแรงดึงที่พอดี ซ่อนปมไว้ระหว่างชั้นผ้า(สีเขียว)ไม่โผล่ออกมาด้านใดด้านหนึ่ง
ข้อ B ถ้าด้ายบนตึงเกินไปด้ายล่างก็จะโผล่ขึ้นมาด้านหน้าของงาน เราก็ต้องแก้ไขด้วยการลดความตึงด้ายบนลง
แต่ถ้าด้ายบนหย่อนเกินไป ตามข้อ C ด้ายบนก็จะไปโผล่ที่ด้านหลังของงานแทน เราสามารถแก้ได้โดยการเพิ่มความตึงด้ายบน
เราจะปรับความตึงด้ายอย่างไร จักรแต่ละรุ่นจะมีปุ่มปรับความตึงด้ายแตกต่างกัน ผู้ใช้ต้องศึกษาดูจากคู่มือจักรแต่ละรุ่น แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะอยู่ด้านบนจักร ค่ากลางที่ตั้งไว้มักจะเป็นเลข 4 ถ้าเราต้องการลดความตึงด้ายให้ปรับไปทางเลขน้อย แต่ถ้าเราต้องการเพิ่มความตึงด้ายให้ปรับไปทางเลขมาก
เราจะตั้งค่าความตึงด้ายไว้แบบเดิมทุกครั้งเลยได้หรือไม่
เราควรปรับความตึงด้ายเป็นกรณี ๆ ไป ทุกครั้งก่อนเริ่มเย็บงานจริง ถ้าเราต้องการให้งานออกมาดีที่สุด ควรทดสอบกับผ้าทดลองก่อนทุกครั้ง จะได้ลดปัญหาการเลาะงานซึ่งเสียเวลามากกว่า
ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับความตึงด้าย
ความหนาของเนื้อผ้า การเย็บผ้าด้วยจักรใช้หลักการเกี่ยวด้ายบนและด้ายล่างเข้าด้วยกัน ปมที่เกิดจากการเกี่ยวจะซ่อนอยู่ระหว่างชั้นของผ้า ดังนั้นผ้าที่มีเนื้อหนาจึงซ่อนปมด้ายได้ง่ายกว่าผ้าเนื้อบาง ผ้าควิลท์ที่มีการซ้อนกันถึง 3 ชั้นจึงปรับซ่อนปมด้ายได้ง่ายกว่าการเย็บผ้าปกติมาก
รูปตัวอย่างด้านบนใช้ผ้า 2 ชั้น ด้ายบนและล่างต่างสีกันชัดเจน ไม่ว่าจะปรับความตึงด้ายอย่างไรก็ไม่สามารถซ่อนปมด้ายได้สนิท
สีของด้ายบนและด้ายล่าง ถ้าเราใช้ด้ายบนและด้ายล่างสีเดียวกัน บางทีเราก็ไม่จำเป็นต้องปรับความตึงด้ายเลย ถึงแม้ว่าปมด้ายจะโผล่มาบ้างเล็กน้อยก็ไม่ได้ทำให้งานของเราดูด้อยลง แต่ถ้าเราใช้ด้ายคนละสี เราจำเป็นต้องเอาใจใส่ในเรื่องนี้ให้มาก ๆ
ถ้าเราเย็บผ้า 2 ชั้นปกติ จึงแนะนำให้ใช้ด้ายบนและล่างสีเดียวกันจะดีกว่า
แต่ถ้าเราควิลท์งาน เราสามารถเลือกใช้ด้ายบนและล่างต่างสีกันได้ ซึ่งจะมีผลต่อรูปแบบงานที่เราต้องการแสดงออกมา
ขนาดหรือเบอร์ของด้ายบนและล่างที่ต่างกัน แน่นอนว่าด้ายที่มีขนาดใหญ่กว่าย่อมมีแรงดึงมากกว่าด้ายเส้นเล็กมาก เราจึงต้องลดความตึงด้ายของด้ายฝั่งที่เส้นใหญ่กว่าลง และต้องระวังอย่าให้ฝั่งด้ายบางตึงเกินไป เพราะด้ายอาจจะขาดได้
ตัวอย่างการทดลองเย็บผ้า 3 ชั้น ด้วยด้ายต่างสีและขนาด โดยปรับความตึงด้ายต่างกัน ด้านหน้า
ตัวอย่างการทดลองเย็บผ้า 3 ชั้น ด้วยด้ายต่างสีและขนาด โดยปรับความตึงด้ายต่างกัน ด้านหลัง
ตัวอย่างการปรับด้ายบนตึงเกินไป จะเห็นด้ายล่างโผล่ขึ้นมาชัดเจนเมื่อความตึงด้ายอยู่ 5.75
ตัวอย่างการปรับด้ายบนหย่อนเกินไปที่ความตึงด้าย 1.25 เมื่อพลิกดูด้านหลังงาน จะเห็นด้ายบนโผล่มาเป็นจุด ๆ
จะเห็นว่าค่าความตึงด้ายที่เหมาะสมที่สุดในกรณีนี้อยู่ที่ 2.25-3.25 ทั้งด้ายบนและด้ายล่างซ่อนอยู่ในระหว่างชั้นผ้าอย่างกลมกลืน ส่วนเบอร์ 1.25-1.75 ที่ด้ายล่างไม่โผล่ขึ้นมา แต่ด้ายบนมีลักษณะไม่เรียบเนียนดูลอย ๆ ไม่สวยงามและฝีเข็มดูจะไม่แข็งแรง
รู้จักเรื่องความตึงด้ายกันบ้างแล้ว เย็บผ้าคราวต่อไปอย่าลืมปรับกันนะคะ ความตึงด้ายยังมีเรื่องให้ศึกษากันอีกเยอะ เราสามารถใช้เรื่องความตึงได้มาทร้างเทคนิคแปลก ๆ ได้อีกด้วย ถ้ามีโอกาสทดลองเมื่อไหร่เอ๋จะมาแชร์ประสบการณ์นะคะ
ค่อยๆ เรียนรู้กันไปค่ะ เราจะได้เย็บผ้าได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
ใช้...ด้ายมีให้อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
ใช้...ด้าย ตอนที่ 1 ชนิดของด้าย
ใช้...ด้าย ตอนที่ 2 ขนาดของด้ายนั้นสำคัญแค่ไหน
14 Aug 2022
8 Oct 2023
31 Jan 2024
22 Oct 2022