Last updated: 16 ก.พ. 2563 |
มาเย็บผ้าห่มไว้ใช้สำหรับหน้าหนาวนี้กันค่ะ งานชิ้นนี้เหมาะสำหรับมือใหม่และมือเก่ามากค่ะ เพราะเย็บง่าย ไว สะดวก โดยเฉพาะมือใหม่งานชิ้นนี้ใช้เป็นแบบฝึกหัดที่ดีเลยทีเดียวค่ะ
สำหรับมือใหม่หัดเย็บการเย็บผ้าให้ตรงก็เป็นเรืองยากแล้ว แถมถ้าต้องเย็บต่อผ้าให้เป็นลวดลาย ต้องระวังมุมให้ชนมุม แถมชิ้นงานขนาดใหญ่แบบผ้าห่มแล้ว คงทำให้ท้อใจกันเลยทีเดียว
Colour Brick Quilt ออกแบบโดย Rachael Hauser เป็นแพทเทิร์นงานควิลท์แบบง่าย ๆ เหมาะสำหรับคนที่อยากจะเย็บผ้าห่ม เพราะการเย็บงานควิลท์ชิ้นนี้ไม่ต้องระวังให้มุมชนมุม เป็นการเย็บเส้นตรงล้วน ๆ กว่าจะจบงานชิ้นนี้เราคงเย็บผ้าได้เก่งกันขึ้นเยอะเลยค่ะ
นอกจากจะฝึกเรื่องเย็บผ้าแล้ว การทำงานควิลท์ชิ้นนี้เราสามารถฝึกเรื่องการใช้โรตารีคัตเตอร์สำหรับตัดผ้าอีกด้วย โดยเราจะเริ่มต้นการตัดจากผ้าขนาด 1/4 หลา ซึ่งจะง่ายกว่าการตัดผ้าชิ้นใหญ่ ๆ ช่วยฝึกให้เราเกิดความมั่นใจในการใช้โรตารีคัตเตอร์มากขึ้น
ในซีรีส์นี้เราจะเขียนเป็นตอน ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จเป็นชิ้นงานประกอบไปด้วย
1. เตรียมอุปกรณ์
2. การตัดผ้าโดยใช้โรตารีคัตเตอร์
3. เริ่มต้นเย็บผ้าและประกอบชิ้นงาน เราจะได้เรียนรู้เทคนิค chain piecing
4. การเนาใยประกอบงานควิลท์
5. เริ่มต้นควิลท์
6. การกุ๊นเก็บงานด้วยจักร
พร้อมแล้วเรามาเริ่มตอนที่ 1. เตรียมอุปกรณ์กันเลยค่ะ
อย่างแรกเลยอุปกรณ์สำคัญที่สุด ผ้าที่เราจะใช้ทำงาน ควรเป็นผ้าคอตตอน 100% เพราะให้สัมผัสที่นุ่มนวลสบายตัว เนื่องจากงานควิลท์ชิ้นนี้จะเป็นงานสไตล์เศษผ้า ให้เราเตรียม
ผ้าขนาด 1/4 หลาไว้ประมาณ 13-15 ชิ้น ลองเลือกสีและลายที่ถูกใจแล้วนำมาจัดเรียงกันดูว่ามีชิ้นไหนที่ดูโดดเกินไปหรือไม่ หรือสีและลวดลายอยู่ในโทนที่เราต้องการหรือไม่
ผ้าสำหรับทำ lattice ยาว 2 3/4 หลา ควรเป็นผ้าสีพื้นหรือดูเหมือนสีพื้นเพื่อเน้นให้ผ้าลายของเราดูเด่นชัดยิ่งขึ้น
ในรูปเราใช้ผ้าของ Free Spirits สำหรับผ้าลาย และเลือกผ้า Stonhenge Gradiation ของ Northcott เป็น Lattice
ผ้าสำหรับ backing จำนวน 5.5 หลา
ผ้ากุ๊น 1 หลา
2. อุปกรณ์สำหรับตัด ประกอบไปด้วย
โรตารีคัตเตอร์ เป็นคัดเตอร์ที่มีใบมีดเป็นวงกลมสำหรับตัดผ้าโดยเฉพาะ ขนาดที่ควรใช้คือ 45 มิล หรือ 60 มิล ควรเลือกยี่ห้อที่ดูน่าเชื่อถือ จับแล้วมั่นคงไม่โยกไปมา ถึงราคาจะแพงหน่อย แต่คุ้มมากสำหรับการใช้งาน เพราะใช้งานกันยาวนาน สามารถตัดผ้าได้ทีละ 4-8 ชั้น
ไม้บรรทัดสำหรับใช้กับโรตารีคัตเตอร์โดยเฉพาะ เลือกใช้ได้ทั้งหลักนิ้วและหลักเซ็นต์ตามความถนัด ไม้บรรทัดนี้จะมีช่องแบ่ง ย่อย ๆ หลายระดับช่วยให้เราตัดผ้าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
สำหรับเบื้องต้นแนะนำ 3 ขนาด คือ
1) 15*60 cm(6*24 ")
2) 10*45 cm ( 4*18")
3) 15*30 cm (6*12")
-แผ่นรองตัด ขนาดที่แนะนำสำหรับใช้งานที่บ้านคือ 24*36" เพราะมีขนาดใหญ่พอสำหรับใช้ตัดผ้าชิ้นใหญ่ ช่วยให้เราสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น สำหรับยี่ห้อก็เหมือนโรตารีคัตเตอร์ คือเลือกยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ จะได้ไม่ขาดหรือบิดง่าย
อุปกรณ์ในหมวดนี้แนะนำให้ใช้แบบคุณภาพดีที่สุดเท่าที่เราจะไหวนะคะ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตลอดไปถ้าไม่เบื่อเสียก่อน อุปกรณ์ราคาถูกอาจจะดูประหยัดในครั้งแรก แต่การใช้งานไม่ดีเท่า ถ้าเราใช้แบบดี ๆ อาจจ่ายมากหน่อยแต่เป็นการจ่ายเพียงครั้งเดียวและไม่หงุดหงิดระหว่างทำงานด้วย
3. จักรเย็บผ้า เลือกใช้ยี่ห้อตามความถนัด แต่ควรมีความแข็งแรงพอที่จะเย็บผ้าขนาดใหญ่และมีความหนาพอสมควรได้ และควรจะมีตีนผีสำหรับงานเย็บต่อผ้าโดยเฉพาะ เพราะจะช่วยให้เราทำงานได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
จักรที่ดีมีส่วนช่วยให้งานของเราเรียบร้อยและสวยงามด้วยค่ะ เดี๋ยวนี้บ้านเรามีจักรสำหรับงานควิลท์ให้เลือกใช้หลายรุ่น ใครที่คิดจะซื้อใหม่ควรจะหาเวลาทดลองใช้หลาย ๆ ยี่ห้อ เพื่อหารุ่นที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด
4.ใยสำหรับงานควิลท์ ควรจะมีความนิ่มและไม่ต้องหนามากเพื่อที่เราจะควิลท์ได้ง่าย ๆ และห่มได้สบายตัวด้วย จะเลือกใช้ใยประเภทไหนก็ได้ตามความชอบใจค่ะ
เตรียมอุปกรณ์กันเรียบร้อยแล้ว คราวหน้าเรามาเตรียมตัดผ้ากันค่ะ
9 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
8 ธ.ค. 2567