Last updated: 10 ส.ค. 2563 |
ทำไมถึงแนะนำให้ใช้ผ้าคอตตอนนอกทำงานควิลท์ ผ้าไทยใช้ไม่ได้หรือ
คำถามนี้น่าจะเกิดขึ้นกับทุกคนที่เย็บงานควิลท์
เอ๋เองก็เช่นกันค่ะ
เป็นที่รู้กันอยู่ว่างานควิลท์เป็นงานอดิเรกที่สิ้นเปลืองมาก ไหนจะค่าอุปกรณ์สารพัดชนิด ยังจะมีค่าผ้าที่ซื้อเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอซักที จะซื้อผ้าแต่ละชิ้นก็คิดแล้วคิดอีก
เอ๋เลยเขียนบทความนี้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับคนที่สนใจทำงานควิลท์ หรืออยากจะทำงานควิลท์ โดยใช้ประสบการณ์ของตัวเองตั้งแต่เริ่มหัดเย็บ จนเป็นนักเรียน เป็นคนขายผ้า จนมาเป็นครู (ทุกวันนี้ก็ยังเป็นครบทุกบทบาท) และจากการพูดคุยกับเพื่อน ๆเรื่องการเลือกใช้ผ้าของแต่ละคน
ถ้าผู้อ่าน ๆ แล้วรู้สึกว่าข้อมูลตรงไหนไม่ถูกต้องหรือควรแก้ไข เอ๋ยินดีรับฟังเพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมนะคะ และบทความนี้ไม่ได้มุ่งหวังทีจะโจมตีผู้ใดเพื่อส่งเสริมธุรกิจตัวเอง แต่ต้องการเขียนเพื่อให้คนอ่านสามารถเลือกใช้วัสดุให้ตรงตามความต้องการเท่านั้นค่ะ
เอ๋เริ่มทำงานควิลท์มากนานมากกว่า 20 ปี ตอนนั้นประเทศไทยน่าจะมีคนทำงานควิลท์น้อยมาก ๆ แทบจะหาข้อมูลไม่ได้ Google ก็น่าจะยังไม่มี หรือมีแล้วแต่เอ๋ยังไม่รู้จักใช้
เอ๋รู้จักงานควิลท์ผ่านหนังสือ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” อ่านแล้วรู้สึกอยากทำงานฝีมือประเภทนี้บ้าง เลยไปหาซื้อหนังสือควิลท์มาหัดทำ หนังสือควิลท์ที่ซื้อก็เป็นหนังสือญี่ปุ่นซะนี่ อ่านก็ไม่ออกได้แต่ดูรูป
รู้แต่ว่างานในหนังสือมีแต่สีขาวกับแดงน่าจะหาผ้าได้ง่าย ไปสำเพ็งซื้อผ้ามาหัดเย็บเลย ไม่ได้รู้ว่าการทำงานควิลท์ควรจะใช้ผ้าคอตตอนเท่านั้น แต่โชคดีที่เลือกใช้ผ้าถูก งานชิ้นนั้นเลยยังอยู่มาจนทุกวันนี้
งานควิลท์ชิ้นแรกในชีวิต ใช้ผ้าสีขาวแดง เก่าและซีดใกล้เคียงกับงานควิลท์โบราณแล้ว
จากนั้นก็เย็บงานควิลท์มาเรื่อยเปื่อย ถึงขั้นตัดเสื้อผ้าให้ลูก(วัตถุประสงค์รอง) เพื่อจะเอาเศษผ้ามาทำงานควิลท์(วัตถุประสงค์หลัก) จะได้ไม่รู้สึกผิดตอนซื้อผ้า
แต่พอทำงานมาเรื่อย ๆ เริ่มมีการเรียนกับครูสอนงานควิลท์ ก็รู้สึกว่าทำไมงานของครูสวยจัง พร้อมกับค่อย ๆ ซึมซับทีละน้อยว่า ครูเลือกใช้ผ้าสวย ๆ มาทำงานตลอด เราอยากได้งานสวย ๆ บ้าง เลยค่อย ๆ เปลี่ยนทัศนคติตัวเองยอมใช้ผ้านอกมาทำงาน ถึงจะรู้สึกว่าผ้าแพงแต่ก็คุ้ม
เพราะเอ๋รู้สึกว่างานแต่ละชิ้นต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเสร็จ ถ้าใช้ผ้าไม่สวยแล้วงานออกมาไม่สวยก็คงน่าเสียใจไม่น้อย
ทำไมผ้าไทยถึงทำงานแล้วสวยสู้ผ้านอกไม่ได้ ในความคิดเห็นของเอ๋ ผ้าไทยมีการพิมพ์สีที่ไม่ซับซ้อน ลวดลายไม่สะดุดตา ทำให้งานบางชิ้นออกมาดูแล้วไม่มีมิติ ไม่น่าตื่นเต้น ในขณะที่ผ้าที่ออกแบบมาสำหรับทำงานควิลท์โดยเฉพาะ จะมีสีแปลก ๆ และมีความซับซ้อนของสีที่มากกว่า ลวดลายก็สวยงาม เพราะมีการจ้างนักออกแบบค่าตัวแพงออกแบบลวดลายให้สมกับราคาของผ้า
ดูตัวอย่างผ้าชุดนี้จะเห็นว่าผ้าลายดอกกุหลาบ มีชมพูเหลือบหลายสีมากในกุหลาบแต่ละดอก หรือผ้าสีฟ้าชิ้นบนสุดก็มีความเหลือบสีสวยงาม แม้กระทั่งผ้าสีส้มอ่อนและชมพูเข้มด้านหลังก็มีสีไล่หลายระดับในผ้าชิ้นเดียวกัน ถ้าเอาไปทำงานด้วยกันก็น่าจะสวยมาก
หรือถ้าเทียบลายง่าย ๆ แบบลายจุด จะผ้าไทยหรือผ้านอกก็มีผ้าลายจุดเหมือนกัน ที่แตกต่างกันคือ ผ้าไทยส่วนมากจะมีจุดขาวหรือจุดดำ หรือจุดสี ๆ บนผ้าขาวหรือผ้าดำ แต่ถ้าเป็นผ้านอกที่ออกแบบโดยนักออกแบบที่เชี่ยวชาญเรื่องการใช้สี จะมีลายจุดสารพัดสีชวนให้หลงใหล ทั้งขนาดใหญ่ขนาดเล็ก แค่สะสมผ้าลายจุดกระเป๋าก็เบาไปเยอะแล้วค่ะ
เชื่อว่าทุกคนที่ทำงานควิลท์น่าจะมีประสบการณ์เหมือนกันคือ ซื้อผ้าสะสมไว้เผื่อใช้งานเป็นจำนวนมากเมื่อเปลี่ยนมาใช้ผ้านอกทำงานปัญหาที่ตามมาก็คือ ผ้าของไทยที่ซื้อไว้มีปริมาณมากจนใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด เอามาตัดเสื้อผ้า ทำปลอกหมอนของใช้สารพัดก็ยังไม่หมด เวลาจะทำงานทีก็ยังจะหยิบเอาผ้านอกมาตัดสินใจก่อน
ปัญหาที่เอ๋เจอเวลาใช้ผ้าไทย คือ คุณภาพของเนื้อผ้า อย่างที่บอกตอนต้นว่าผ้าควิลท์มักมีราคาแพงเพราะใช้นักออกแบบอย่างดี บริษัทผู้ผลิตมีการควบคุมคุณภาพการผลิต เลือกใช้ใยคอตตอนที่มีคุณภาพสูง สีที่ใช้พิมพ์ก็มีคุณภาพดี เพื่อให้สมกับราคาของผ้า ในขณะที่ผ้าไทยเอ๋ไม่ทราบรายละเอียดเรื่องพวกนี้เลย
แต่ที่สังเกตุเห็นได้จากการใช้งานคือ ผ้าคอตตอนไทยในช่วงหลัง ๆ มีคุณภาพต่ำลงจากรุ่นแรก ๆ มาก งานควิลท์ในช่วงแรกของเอ๋ เนื้อผ้ายังดีอยู่ไม่เปื่อยยุ่ย ถึงสีจะซีดจางลงไปเยอะ แต่ผ้ารุ่นหลังขาดง่ายมาก เพราะเอ๋เอาผ้าไทยที่ไม่ได้ใช้มาเย็บปลอกหมอนแล้วต่อกับผ้าอเมริกา ปรากฏว่าใช้งานได้ไม่นานผ้าไทยเปื่อยยุ่ย แต่ผ้าอเมริกายังคงสภาพดีอยู่เหมือนเดิม
งานชิ้นนี้เป็นงานควิลท์ในช่วงแรกๆ เลย ใช้ผ้าไทยมาทำ ผ่านการใช้งานจริงมาอย่างโชกโชน สีอาจซีดเยอะไปหน่อย แต่เนื้อผ้าโดยรวมยังดีอยู่ ยกเว้นบริเวณกุ๊นที่มักจะขาดก่อนเป็นเรื่องปกติ
ปัญหานี้ไม่ใช่เฉพาะผ้าไทยเท่านั้นนะคะ ในประเทศอเมริกาเองก็มีผ้าคอตตอนราคาถูกขายด้วยเหมือนกัน คุณภาพก็เป็นไปตามราคาค่ะ ควิลท์เตอร์ฝรั่งมักจะแนะนำให้ใช้ผ้าดีไซน์เนอร์เท่านั้นมาทำงานควิลท์ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง
แล้วผ้านอกทั้งญี่ปุ่นและอเมริกามีกี่แบบ เมืองไทยทำไมมีขายผ้าดีไซน์เนอร์หลากหลายราคามาก ทั้งถูกและแพง บางทีลายเดียวกันเลย
ข้อควระวังอีกอย่างสำหรับการเลือกซื้อผ้าไทย ผ้าบางชิ้นที่ราคาถูกมาก ๆ บางครั้งจะเป็นผ้า Cotton TC ซึ่งไม่ใช่ผ้าคอตตอน 100% ไม่เหมาะที่จะนำมาทำงานควิลท์
ทำไมต้องใช้คอตตอน 100% อ่านได้ ที่นี่
สำหรับผ้าคอตตอนนอกราคาถูก เอ๋ไม่อาจตอบได้ว่าทำไมราคาถึงได้ถูกขนาดนั้น ราคาขายปลีกที่ไทยถูกกว่าราคาขายส่งที่ต้องซื้อทีละพับเป็นเท่าตัว แต่ถ้าคนที่เคยซื้อผ้าจากอเมริกาหรือญี่ปุ่นโดยตรง จะพบว่าราคาขายผ้าในสองประเทศนี้ค่อนข้างจะเข้มแข็ง คือ ราคาจะใกล้เคียงกันทุกร้าน ในอเมริกาอาจมีราคาแตกต่างกันเล็กน้อยประมาณไม่เกิน 1 เหรียญ ถ้าเป็นญี่ปุ่น ราคาแทบจะเท่ากันทุกร้านค่ะ
ในอเมริการะบบขายผ้าควิลท์เข้มแข็งถึงขนาดออกแบบผ้าหรือแพทเทิร์นบางลายสำหรับจำหน่ายให้ร้านควิลท์ที่ไม่ใช่ร้านออนไลน์ด้วย เป็นการปกป้องให้ร้านควิลท์ท้องถิ่นยังอยู่และสามารถสู้กับร้านออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นผลดีกับทุกคนในธุรกิจนี้
ส่วนตัวเอ๋ก็ผ่านจุดนี้มาก่อนเหมือนกัน แค่เห็นว่าเป็นผ้าดีไซน์เนอร์ ลวดลายสวย ราคาถูกมาก ก็ซื้อมาใช้ และเข้ารอยเดิมคือ ใช้แล้วเจอปัญหาบ้างต้องตัดใจเลิกใช้ แล้วก็จะมีผ้าแบบนี้เต็มบ้าน ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมดซะทีจนทุกวันนี้
ตัวอย่างงานที่เอ๋เคยเจอปัญหาจากผ้าราคาถูก ผ้าบอเดอร์ชิ้นนี้เดิมเป็นสีม่วงเข้มอมเทา เป็นผ้าดีไซน์เนอร์ ใช้ไปใช้มาผ้าเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเฉยเลย โชคยังดีที่สียังไปได้กับชิ้นงาน ในขณะที่ผ้าด้านในส่วนใหญ่ใช้ผ้าอเมริกาและญี่ปุ่นแบบปกติ สียังสดใสเหมือนเดิมแต่ก็มีบางชิ้นที่สีซีดกว่าชิ้นอื่น ซึ่งก็เป็นผ้าราคาถูกเช่นกัน
บังเอิญว่าเป็นผ้าจากบริษัทเดียวกันเลยไม่รู้ว่าเป็นปัญหาเฉพาะบริษัทนี้ หรือเฉพาะผ้า 2 ลายนี้เท่านั้น เลยมีมาจำหน่ายในราคาถูกได้
ผ้าไทยใช้ไม่ได้เลยหรือ คำตอบคือ ใช้ได้แต่ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม แต่เอ๋เชื่อว่าเมื่อทำงานกันมาถึงจุดนึงแล้วทุกคนก็จะหันมาใช้ผ้าคุณภาพดีราคาสูงกันแทบทั้งนั้น ดูจากคนรู้จักและเพื่อน ๆ ที่ทำงานควิลท์กันมานาน ๆ ทุกคนจะพยายามใช้ผ้าคุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ เพื่อความสบายใจในการทำงาน
ผ้าไทยที่เอ๋ดูแล้วคิดว่าน่าสนใจคือ ผ้าไทยที่ทอลวดลายแบบพื้นเมือง เมื่อเอามาทำงานควิลท์จะสวยมีสไตล์มากค่ะ เหมือนครู Kuroha ใช้ผ้าพื้นเมืองของญี่ปุ่นมากทำงานควิลท์ ได้สวยงามจนเป็นเอกลักษณ์ ส่วนของไทยเอ๋เคยเจอตามงาน OTOP และรู้จักน้องบางคนที่ทำงานแบบนี้อยู่ ไว้มีโอกาสคุยกันเมื่อไหรจะเอามาเล่าให้ฟังนะคะ
ตัวอย่างงานควิลท์ของครู Kuroha ที่ใช้ผ้าพื้นเมืองและผ้ากิโมโนมากทำ อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ ที่นี่
ผ้าไหมไทยก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจนะคะ มีการใช้ผ้าไหมมาทำงานควิลท์ด้วย เอ๋ก็กำลังทดลองใช้อยู่เหมือนกัน ถ้าใช้แล้วเป็นยังไงจะมาแชร์ประสบการณ์ให้ทราบกันนะคะ
สำหรับคนที่ทำงานควิลท์จนคล่องแล้ว ผ้าคอตตอนพื้นเมืองของแต่ละประเทศก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน อย่างอินเดียก็มีเนื้อผ้าและลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เห็นเพื่อนบางคนเอามาทำงานดูแล้วสนุกสนานมาก เอ๋ยังไม่เคยใช้เลยอธิบายไม่ได้นะคะ
สรุปนะคะ เลือกผ้าใช้ให้ตรงกับงบประมาณและวัตถุประสงค์ของตัวเอง เพื่อที่เราจะได้มีความสุขกับการทำงานควิลท์ค่ะ มือใหม่หัดเย็บถ้าอยากใช้ผ้าคุณภาพดีแต่ราคาสูงก็ซื้อชิ้นเล็ก ๆ มาตัดใช้ทีละน้อย แค่นี้ก็ก็มีความสุขมากมายแล้วค่ะ
หรืออยากจะซื้อผ้าราคาไม่แพงก็อย่าซื้อครั้งละเยอะๆ ค่ะ เผื่อเปลี่ยนแนวผ้าจะได้ทำได้ไม่ยาก เคยมีลูกค้าที่ซื้อผ้าไทยมาสะสมจำนวนมาก แล้วอยากเปลี่ยนแนวมาใช้ผ้าอเมริกาบ้าง ปรากฏว่าเปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะเสียดายผ้าที่มีอยู่เต็มบ้านไปหมด จะเอาผ้าอเมริกามาผสมกับผ้าไทยก็เสียดายของอีก แล้วพองานออกมาสวยไม่เท่าเพื่อน ๆ ก็เลยหมดกำลังใจไปเลย
แต่ถ้ามั่นใจในสไตล์การทำงานของตัวเองก็เลือกผ้าที่ชอบเลยค่ะ
แต่มีผ้าคอตตอนอย่างนึงที่ไม่แนะนำให้ใช้ค่ะ คือ ผ้าคอตตอนลอกเลียนแบบ เพราะผ้าลิขสิทธิ์แต่ละชิ้นใช้เวลาและต้นทุนในการผลิตและออกแบบมากมายมหาศาล เพื่อที่เราจะมีผ้าสวย ๆ ได้ใช้กัน แล้วก็มีคนฉวยโอกาสเอาผ้านั้นมาพิมพ์ขายตัดราคา ถ้าเราไปซื้อเท่ากับเราสนับสนุนให้มีคนทำแบบนั้นกันเยอะ ๆ คนผลิตและคนออกแบบก็เสียกำลังใจแน่ ๆ ค่ะ
แล้วถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ไม่ได้ต้องเลิกผลิตไป ผลเสียก็จะอยู่ที่เราซึ่งเป็นผู้บริโภคเอง ที่จะไม่มีของสวย ๆและดี ๆ มาให้เลือกทำงานกัน
เอ๋เคยเจอใน Facebook ของฝรั่งที่เป็นคนสวีเดน แสดงความไม่พอใจที่เจอผ้าลายของ Marie Mekko ทำเป็นกระเป๋าขายตามแผงลอยในประเทศไทย แล้วก็มีคนคอมเมนต์แบบไม่พอใจหลายคนเลย ได้อ่านแล้วเราก็ไม่สบายใจเหมือนกันนะคะ
บทความนี้ยาวหน่อยนะคะ ถ้าคิดว่าเป็นประโยชน์ช่วยกดไลค์ แชร์ เพื่อเป็นกำลังใจในการเขียนเรื่องต่อ ๆ ไป หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อที่เอ๋จำได้นำไปปรับปรุงค่ะ
Happy Quilting
31 ม.ค. 2567
14 ส.ค. 2565
22 ต.ค. 2565
8 ต.ค. 2566