Last updated: 18 ต.ค. 2563 |
ปัญหาใหญ่ของมือใหม่หัดเย็บอีกปัญหา คือการล้มตะเข็บแบบไหนถึงจะสวยที่สุด บางครั้งก็สับสน ล้มไปทางโน้นทีทางนี้ที กว่างานจะเสร็จด้านหลังของงานก็ดูวุ่นวายไปหมด
การล้มตะเข็บที่เหมาะสมมีส่วนช่วยให้งานของเราดูสวยมากขึ้น ถ้าล้มผิดวิธีงานที่ควรจะออกมาดีก็ดูเป็นงานที่ไม่เรียบร้อยไปอย่างน่าเสียดาย
โดยปกติแล้วเราจะล้มตะเข็บไปในทิศทางของลาย เพื่อช่วยให้ลายนั้นเด่นขึ้น เช่น แพทเทิร์นลายแฉกดาว เราจะล้มตะเข็บเข้าหาลายแฉกดาวเป็นหลัก เพื่อให้ลายนูนเด่นขึ้น แล้วจึงควิลท์ที่ด้านข้างของลายเพื่อเน้นให้ลายยิ่งชัดยิ่งขึ้น
นอกจากทิศทางการล้มตะเข็บแล้ว วิธีล้มตะเข็บก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณา
วิธีล้มตะเข็บที่พบโดยทั่วไปมี 3 วิธีแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป
1. ล้มตะเข็บไปทางทิศเดียวกันหมด วิธีนี้มีข้อดี คือ รีดง่าย ตะเข็บแข็งแรง ควิลท์ลงร่องสะดวก ไม่ต้องขยับเข็มไปมา ล้มตะเข็บเน้นลายได้ แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือ ถ้าลายที่ผ้ามีการซ้อนกันลายชั้น บริเวณตะเข็บจะหนาและโป่งมาก ต่อผ้าให้มุมชนกันได้ยาก
2.ล้มตะเข็บแบบวนตามกัน วิธีนี้ ตะเข็บจะไม่หนามาก งานออกมาค่อนข้างเรียบเนียนสวยงาม สามารถล้มตะเข็บไปในทิศทางให้ลายเด่นชัดได้ เย็บง่าย ข้อเสียคือ บริเวณรอยต่อผ้าอาจเกิดช่องมองเห็นใยได้ง่าย การรีดแต่ละครั้งต้องวางแผนให้ดีว่าจะล้มตะเข็บผ้าแต่ละชิ้นไปทิศไหน
3.ล้มแบบแบะตะเข็บ วิธีนี้เย็บง่าย งานจะออกมาเรียบเนียนที่สุด แต่งานก็จะขาดมิติไปบ้าง ตะเข็บจะอ่อนแอ เพราะไม่มีผ้ามาช่วยยึดเอาไว้ ควิลท์ลงร่องไม่ค่อยสวย ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าการล้มตะเข็บแบบวน
ควรล้มตะเข็บแบบไหนดี ???
เราควรทดลองเย็บและล้มตะเข็บตามแบบต่าง ๆ แล้วเลือกใช้วิธีที่เราชอบที่สุด ในงานชิ้นเดียวกันควรจะล้มตะเข็บแแบบเดียวกันทั้งชิ้น เพื่อให้ด้านหลังของงานออกมาสวยที่สุด
งานบางเทคนิคจะใช้วิธีล้มตะเข็บได้เพียงวิธีเดียว เช่น การต่อขอบผ้าแบบแนวทแยงมุม ต้องใช้วิธีแบะตะเข็บเท่านั้น มุมถึงจะออกมาสวย ดังนั้นเราจึงควรดูงานแต่ละชิ้นด้วยว่าล้มตะเข็บได้กี่แบบ
31 ม.ค. 2567
8 ต.ค. 2566
22 ต.ค. 2565
14 ส.ค. 2565